ขนาดตัวอักษร แสดงผล

เกี่ยวกับเรา

About us

ความเป็นมา

สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กำเนิดขึ้นหลังปีคนพิการสากล เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2526 โดยแกนนำคนพิการหลายท่านในขณะนั้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมประชุมสมัชชาคนพิการ

“คนพิการสากล” (DISABLED PEOPLE’S INTERNATIONAL) ณ ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ (ธีม) หลัก คือ “คนพิการควรจะมีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และเสมอภาค (Full Participation and Equality) เช่นบุคคลทั่วไปในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม”

ด้วยเหตุที่ตระหนักดีในสภาพความเป็นจริงว่าคนพิการในประเทศไทยได้ถูกละเลยทอดทิ้งจากรัฐและสังคมมาเป็นเวลานาน คนพิการไม่เคยได้มีสิทธิ และโดยที่คนพิการแต่ละประเภทในประเทศไทยมิได้รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้ขาดพลังในการขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ

ดังนั้นผู้นำคนพิการประเภทต่างๆ เช่น ผู้นำสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้นำสมาคมคน
หูหนวกแห่งประเทศไทย ผู้นำสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และผู้นำสมาคมผู้ปกครองเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไท จึงได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อจะรวมตัวกันเป็นองค์กรเดียวเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทน เป็นปากเสียงให้กับคนพิการทั้งมวล โดยรณรงค์เรียกร้องให้มีกฎหมาย มีระเบียบข้อบังคับที่จะให้ประโยชน์ต่อคนพิการทุกประเภท ในที่สุดเมื่อวันที่ 20-22 ตุลาคม 2526 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคนพิการทุกประเภทและตัวแทนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมและมีมติให้จัดตั้ง “สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย”

ปัจจุบันสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเป็นองค์การขับเคลื่อนเชิงนโยบายด้านคนพิการระดับชาติ ซึ่งถูกรับรองฐานะไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เป็นองค์กรร่ม (Umbrella Organization) มีสมาชิกสามัญถาวร คือ องค์การด้านคนพิการแต่ละประเภทระดับชาติ 6 องค์การ ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) รวมทั้งมีสมาชิกสามัญทั่วไป ได้แก่ สภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดที่เป็นสาขาอยู่ใน 77 จังหวัด อีกทั้งยังมีสมาชิกวิสามัญซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการอื่น

วัตถุประสงค์

ข้อบังคับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยที่แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 วันที่ 5 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดระนอง ข้อ 4 กำหนดว่าสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ 10 ประการ ได้แก่

  1. เสนอแนะ แก้ไขเพิ่มเติม ขับเคลื่อน และติดตามการบังคับใช้ กฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งผลักดันให้มีการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้าสู่การพัฒนากระแสหลัก
  2. เป็นสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีธรรมาภิบาลขององค์การคนพิการแต่ละประเภทและองค์กรด้านคนพิการ
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและมีเอกภาพระหว่างคนพิการแต่ละประเภท โดยเฉพาะผ่านกลไกสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด
  4. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมขององค์การคนพิการแต่ละประเภทและองค์กรของคนพิการในฐานะเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ให้ได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกัน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  5. เสริมสร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการ
  6. ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิคนพิการ และเป็นผู้ร้องขอหรือฟ้องคดีแทนองค์การคนพิการแต่ละประเภทหรือองค์กรด้านคนพิการเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบต่อคนพิการโดยรวม รวมทั้งส่งเสริมให้สมาชิกให้บริการและความช่วยเหลือต่างๆ แก่คนพิการ
  7. ทำหน้าที่เป็นองค์กรประสานงานร่วมขององค์การคนพิการแต่ละประเภท รวมถึงการเข้าร่วมเป็นผู้แทนในคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้แทนองค์กรคนพิการระดับชาติเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการ
  8. ดำเนินกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการสื่อสารอื่น ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงผลกำไร
  9. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและงานวิชาการ เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนและติดตามการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายด้านคนพิการ
  10. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและมีวัตถุประสงค์ไม่ค้ากำไร

ยุทธศาสตร์สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564

วิสัยทัศน์

“สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล เป็นกลไกหลักร่วมกับองค์การคนพิการแต่ละประเภทในการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการ และเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน”

พันธกิจ

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความเป็นปึกแผ่น และการมีธรรมาภิบาลของสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด
  2. ขับเคลื่อนและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนงาน ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมทั้งผลักดันให้มีการผนวกรวมประเด็นคนพิการเข้าสู่การพัฒนากระแสหลัก
  3. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด ในฐานะเป็นหุ้นส่วนกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะกรรมการบริหารสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ชุดปัจจุบัน

ที่ ชื่อ-นามสกุล ตำแหน่ง
1 นายศุพชีพ ดิษเทศ นายกสมาคม
2 นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ อุปนายกที่ ๑
3 นายวิทยุต บุนนาค อุปนายกที่ ๒/ประธานฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและภาษา
4 นายเอกกมล แพทยานันท์ อุปนายกที่ ๓/นายทะเบียน/ประธานฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5 นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล อุปนายกที่ ๔/เหรัญญิก
6 นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ อุปนายกที่ ๕/เลขาธิการ/ประธานฝ่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม
7 นางสาวกิจจาพร ชื่นบุญ กรรมการ
8 นางฑิฆัมพร บุญศรี กรรมการ
9 นายณกรณ์ วงศ์ประสิทธิ์ กรรมการ
10 นายทศพร บินซากัน กรรมการ
11 นายพรหมพันธ์ ขันเพ็ชร์ กรรมการ
12 นายภักดี พิกุลหอม กรรมการ
13 นางศุภมาศ บำรุงรัตน์ กรรมการ
14 นางมลสิชา ห้อยแสง กรรมการ
15 นายสามารถ ห้องกระจก กรรมการ
16 นางสุภาพร ปุณริบูรณ์ กรรมการ
17 นายสุรเชษฐ์ คำนวล กรรมการ
18 นางกัลนิกา ศรีวงค์วรรณ์ กรรมการ/ประธานฝ่ายจิตอาสาและพัฒนาศักยภาพ
19 นายกิตติพงษ์ หาดทวายกาญจน์ กรรมการ/ประธานฝ่ายกีฬาและการท่องเที่ยว
20 นายปราโมทย์ ธรรมสโรช กรรมการ/ประธานฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาผู้นำคนพิการ
21 นายพลทร ขุนสะอาด กรรมการ/ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์
22 นายพีรพงศ์ จารุสาร กรรมการ/ประธานฝ่ายกฎหมายและสิทธิมนุษยชน
23 นายภัทรพันธุ์ กฤษณา กรรมการ/ประธานฝ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ
24 นายมณเฑียร บุญตัน กรรมการ/ประธานฝ่ายต่างประเทศ
25 นางวาสนา สำลีรัตน์ กรรมการ/ประธานฝ่ายสวัสดิการ
26 นายวิเชียร หัสถาดล กรรมการ/ประธานฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
27 นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ กรรมการ/ประธานฝ่ายการศึกษา
28 นายสุบิน แบขุนทด กรรมการ/ประธานฝ่ายส่งเสริมอาชีพและการจ้างงาน
29 นางอรุณี ลิ้มมณี กรรมการ/ประธานฝ่ายเด็ก เยาวชน สตรี และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ

ผลงานที่ภาคภูมิใจ (Milestone)

ด้านกฎหมาย

ปี 2534 สภาคนพิการฯ สามารถผลักดันพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกด้านคนพิการ ทำให้เกิดหน่วยงานและคณะกรรมการที่ทำงานเรื่องคนพิการเป็นรูปธรรม มีการจดทะเบียนและให้บริการแก่คนพิการในด้านต่างๆ เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ การศึกษา การประกอบอาชีพ และการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก

ปี 2540 สภาคนพิการฯ ผลักดันให้รัฐธรรมนูญปี 2540 บัญญัติเรื่องสิทธิของคนพิการไว้ได้สำเร็จ “มาตรา 55 บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก อันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ปี 2550 สภาคนพิการฯ ผลักดันให้ รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่ง “ความพิการ” ไว้เป็นครั้งแรกในมาตรา 30 และปฏิรูปพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ให้เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เปลี่ยนจาก “ฐานคิดแบบเวทนานิยม/สงเคราะห์/ช่วยเหลือ” เป็น “ฐานสิทธิ”

ปี 2551 สภาคนพิการฯ ผลักดันให้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551

ปี 2560-2561 สภาคนพิการฯ ผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อกำหนดให้คนพิการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยให้สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น วรรณกรรม ศิลปกรรม ให้อยู่ในรูปแบบที่คนพิการเข้าถึงได้ เช่น อักษรเบรลล์ ภาษามือ รวมทั้งเพื่อให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญามาร์ราเคช (Marrakesh Treaty) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

ปี 2561 สภาคนพิการฯ ได้จัดทำข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ฉบับรับฟังความคิดเห็นวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เพื่อขอให้ 1) ใส่คำว่า“คนพิการ” ไว้ทั้งในบทนิยามและในทุกมาตราที่เกี่ยวข้อง 2) เพิ่มศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ 3) กำหนดให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากบริการสารสนเทศด้านการศึกษา 4) ขอให้มีการจัดชั้นเรียนในรูปแบบที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษทางการศึกษา และ 5) ขอให้บัญญัติคำว่า “ออทิสติก” ไว้ในกฎหมายอันจะช่วยให้บุคคลออทิสติกได้รับสิทธิทางการศึกษา

ด้านนโยบาย

ปี 2559-2561 ให้คนพิการที่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมที่ได้รับประโยชน์ทดแทนจากการเจ็บป่วย สามารถเลือกรับบริการสาธารณสุขจากกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อย่างใดอย่างหนึ่งแทนได้

ปี 2560-2561 สภาคนพิการฯ ผลักดันให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถเข้าถึง “การกู้ยืมเงินทุนเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ” ได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้นไม่ติดขัด โดยผู้ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายบุคคลซึ่งเป็นคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ สามารถขอกู้ยืมเงินในท้องที่ใดที่ตนได้ประกอบอาชีพอยู่อย่างแท้จริงได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอีกต่อไป และให้นิติบุคคล (องค์การคนพิการแต่ละประเภท/สมาคมต่าง ๆ) สามารถค้ำประกันผู้ขอกู้ทั้งที่เป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มก็ได้

ด้านการพัฒนาเครือข่าย

ปี 2526-2560 สภาคนพิการฯ ได้จัด “สมัชชาคนพิการแห่งชาติ” ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี โดยเป็นงานประจำปีที่ผู้นำคนพิการทั่วประเทศได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมทั้งกำหนดแนวนโยบายการทำงานของสภาคนพิการฯ ร่วมกัน เช่น ปีที่ผ่านมาเน้นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สภาคนพิการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด

ด้านพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของคนพิการ

ปี 2560-2561 สภาคนพิการฯ ฟ้องศาลปกครองกลางให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลังที่ขอให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินสภาพคล่องส่วนที่เกินความจำเป็นของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,000 ล้านบาท

ด้านต่างประเทศ

ปี 2559 สภาคนพิการฯ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคนพิการ ประเทศไทย จัดทำ”รายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของประเทศไทย” ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จัดทำรายงานคู่ขนาน และได้ไปนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559

ที่ตั้งและการติดต่อ

อาคารศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก เลขที่ 255 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400 โทร: 02-3544260 โทรสาร: 02-3544261

Website: www.dth.or.th

E-mail: disabilitiesth@gmail.com

Facebook: https://www.facebook.com/disabilitiesth/

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

สายด่วนคนพิการ

สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย Disabilities Thailand

255 ห้อง 6-8 ชั้น 3 อาคารศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

E-mail : disabilitiesth@gmail.com

ติดตามเรา