
สรุปการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑
วันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมอภัย จันทวิมล อาคารเสมารักษ์ ชั้น ๒ กระทรวงศึกษาธิการ
.................................................. .................................................. .................................................. .............................
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
๑.๑ ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงผู้แทน
ซึ่งในวันนี้ นายวิเชียร หัสถาดล เป็นผู้แทนสมาคมฯ
มติที่ประชุม รับทราบ
ระเบียบวาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๑
มติที่ประชุม รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๑ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องเพื่อทราบ
๓.๑ โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ศูนย์พัฒนาส่งเสริมประสานงานกิจการนักศึกษา)
ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ๑๔,๓๔๐,๔๐๐ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- ตารางการรายงานผลการดำเนินโครงการ ขาดการสรุปค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการ
- กิจกรรมที่ ๑ มีการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรม และกิจกรรมที่ ๔ มีการจัดทำเนื้อหารายวิชาในหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ โดยทั้ง ๒ กิจกรรมมีการศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น ผู้รับผิดชอบโครงการ ต้องจัดส่งหลักสูตรดังกล่าวให้กองทุนฯ
- การรายงานผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ควรรายงานผลสัมฤทธิ์เป็นรายกิจกรรมและรายงานผลการใช้จ่ายเงิน
มติที่ประชุม รับทราบ และมอบให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการดังนี้
- ติดตามงบประมาณที่ใช้จ่ายว่าเป็นไปตามโครงการหรือไม่
- ติดตามให้จัดส่งรายงานผลสัมฤทธิ์โครงการ โดยแยกตามรายกิจกรรม
๓.๒ โครงการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในสถาบันอาชีวศึกษา
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (วิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล) ได้รับเงินสนับสนุนจาก
กองทุนฯ ๕,๙๐๖,๖๕๐ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- ขอให้ฝ่ายเลขานุการปรับปรุงวิธีการเขียนรายงานการดำเนินงานโครงการให้อนุกรรมการเข้าใจง่าย
- ขอให้ฝ่ายเลขานุการสรุปรายงานงบประมาณว่าแต่ละกิจกรรมเบิกใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร คงเหลือเงินเท่าไร
มติที่ประชุม รับทราบ และมอบให้ฝ่ายเลขานุการสรุปข้อมูลเพิ่มเติม และนำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป
๓.๓ โครงการการจัดการเรียนรู้บูรณาการตามแนวทางงานสวนพฤษศาสตร์โรงเรียนในโรงเรียนเฉพาะความพิการสำหรับบุคคล
ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น) ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ๑,๑๗๑,๕๒๐ บาท
ฝ่ายเลขานุการ รายงานว่า กิจกรรมที่ ๑ อบรมหลักสูตรพัฒนาครูและบุคลากรเพื่อเป็นวิทยากรแกนนำงานสวนพฤกษศาสตร์ จำนวน ๒๑ แห่ง แต่ผลการดำเนินโครงการมีโรงเรียนเข้าร่วม ๑๙ แห่ง เนื่องจาก มี ๒ โรงเรียน คือ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ติดภารกิจ ส่วนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่พร้อมในการนำความรู้เรื่องสวนพฤษศาสตร์มาใช้กับโรงเรียน ผู้รับผิดชอบโครงการได้ขอความร่วมมือกับโรงเรียนโสตศึกษาอื่นให้ส่งผู้เข้ารับการอบรมเพิ่มแล้ว ทำให้กลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามที่โครงการกำหนด
มติที่ประชุม รับทราบ
๓.๔ โครงการอบรมผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็น เรื่องการใช้สื่อและชุดอุปกรณ์ ICT โรงเรียนประชารัฐ หน่วยงานผู้รับผิดชอบ มูลนิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน ๒๒๓,๗๙๐ บาท
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด สนับสนุนชุดอุปกรณ์ ICT มาตรฐาน (เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เอ็กเทอร์นอลฮาร์ดดิส ที่บรรจุข้อมูลวิชาที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.6 ครบทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้) จากโครงการโรงเรียนประชารัฐ ให้กับโรงเรียนในสังกัดมูลนิธิฯ จำนวน ๗ แห่ง แต่ประสบปัญหาว่านักเรียนพิการทางการเห็นเข้าไม่ถึงสื่อการเรียนดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการนี้เพื่ออบรมผู้บริหารและครูผู้สอนนักเรียนพิการทางเห็นได้เรียนรู้วิธีการใช้งานสื่อการเรียน เทคนิคการจัดกิจกรรมโดยใช้อุปกรณ์ ICT ไปใช้ควบคู่กับสื่อการสอนสำหรับนักเรียนพิการทางการเห็น
มติที่ประชุม รับทราบ
๓.๕ โครงการพัฒนาและฟื้นฟูเด็กพิการในชุมชนโดยครอบครัว หน่วยงานผู้รับผิดชอบ มูลนิธิศูนย์รวมมิตรเพื่อเด็กและเยาวชน ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน ๖๒๑,๙๐๐ บาท
ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบว่าผู้รับผิดชอบโครงการได้ขอรับการสนับสนุนเงินซ้ำซ้อนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหรือไม่ ฝ่ายเลขานุการ ได้ดำเนินการตรวจสอบว่าโครงการนี้ไม่ได้ขอรับการสนับสนุนเงินจากหน่วยงานอื่น และการดำเนินกิจกรรมมีการประสานงานกับหน่วยงานหลายหน่วยงาน เช่น รพ.แม่ฟ้าหลวง รพ.ส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่ และได้ขยายพื้นที่ออกไปเพื่อเด็กพิการและผู้ปกครองได้รับบริการได้สะดวกมากขึ้น ผลการดำเนินโครงการทำให้เด็กพิการมีการพัฒนามากขึ้นจากการฝึกการจับเดิน การฝึกนั่ง
มติที่ประชุม รับทราบ
ระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา
๔.๑ พิจารณาโครงการที่ต้องดำเนินการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ จำนวน ๕ โครงการ
๑) โครงการพัฒนานวัตกรรมชุดหนังสือนิทานผสมผสานกับเทคโนโลยีเสมือนจริง เพื่อพัฒนาความสามารถทางการอ่านของนักเรียนทีมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ชั้นประถมศึกษา หน่วยงานผู้รับผิดชอบ ศูนย์พัฒนาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ๙,๗๙๔,๓๙๙ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- โดยปกติงานวิจัยของราชการ จะเบิกจ่ายเงินเป็นรายงวดและให้ผู้รับผิดชอบโครงการส่งรายงานผลเป็นรายงวดให้ผู้สนับสนุนงบประมาณทราบ แต่กองทุนฯ โอนเงินสนับสนุนโครงการให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหมดจำนวน ๙ ล้านกว่าบาท ดังนั้น เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยง เนื่องจากเป็นโครงการ ๒ ปี และโอนเงินให้ไปหมดแล้ว จึงสุ่มเสี่ยงหากดำเนินโครงการไม่แล้วเสร็จ กองทุนฯ ควรจัดทำแผนการติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผู้รับผิดชอบกำหนดช่วงระยะเวลาการรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการให้กองทุนฯ รับทราบเป็นระยะ และต่อไปหากทำสัญญารับเงินอุดหนุนโครงการควรจะกำหนดการเบิกจ่ายเงินเป็นรายงวด
- ขอให้เน้นการติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการ โดยประเมินผลได้จากเด็ก LD ที่ใช้สื่อการเรียนการสอนเทคโนโลยีเสมือนจริง AR มีพัฒนาการมากขึ้นหรือพัฒนาการเร็วกว่าเด็ก LD ที่ไม่ได้ใช้สื่อดังกล่าว
- เมื่อโครงการแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยควรจัดทำแผนการกระจายผลงานนวัตกรรมดังกล่าวให้แก่เด็ก LD ทั่วประเทศ
มติที่ประชุม รับทราบ มอบให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำแผนการติดตามโครงการ และนำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป
๒) โครงการบริการวิชาการแก่สังคมการจัดทำรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนสำหรับเด็กพิการ
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ๔,๗๐๐,๐๐๐ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- โครงการนี้ควรเชื่อมโยงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวโยงกับการศึกษาคนพิการอย่างไร เนื่องจากขอบเขตของกองทุนฯ คือ สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคนพิการ
- โครงการนี้เป็นการวิจัยเพื่อผลิตรถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนสำหรับเด็กพิการโดยนำเอาไมโครคอนโทรลเลอร์เข้ามาใช้ควบคุมและเพิ่มขีดความสามารถให้กับตัวรถเข็น ซึ่งรถเข็นดังกล่าวมีทั้งขนาด S M L และมีราคาไม่สูงมาก รวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๐๐ คัน ขณะที่รถเข็นไฟฟ้าแบบปรับยืนที่ผลิตโดยบริษัทต่างประเทศจะมีขนาดเดียวและราคาสูง
- ลิขสิทธิ์งานวิจัย จะต้องเป็นของกองทุนฯ
- ควรมีแนวทางในการนำผลงานวิชาการรถเข็นไฟฟ้าที่ได้ไปต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กพิการ
มติที่ประชุม รับทราบ
๓) โครงการผลิตหนังสือเสียงระบบเดซี่เพื่อการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นและทางการเรียนรู้ระดับชั้นประถมศึกษา หน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน ๒,๔๒๖,๙๖๐ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- หนังสือเสียงระบบเดซี่ ชุด CD-ROM พบว่าการบันทึกข้อมูลโดยใช้แผ่นซีดีมีความเสื่อมง่ายหรือเสียหายง่าย ปัจจุบันคนไม่ค่อยใช้ซีดีแล้ว ไทยแลนด์ยุค ๔.๐ระบบเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น มีการจัดเก็บข้อมูลในระบบ cloud storage สามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ตลอดเวลา หรือเก็บข้อมูลใน thumb drive จะดีกว่าซีดี
- การดำเนินโครงการ จัดทำข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) แล้ว แต่ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้าง แสดงว่าล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องทำตาม พรบ.ใหม่
มติที่ประชุม รับทราบ โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการไปประสานกับผู้รับผิดชอบโครงการว่าจะสามารถเปลี่ยนจาก CD-ROM เป็น
thumb drive ได้หรือไม่
๔) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การจัดทำแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการสำหรับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นและมีความบกพร่องอื่นร่วมด้วยสำหรับครูในโรงเรียนสอนคนตาบอดในประเทศไทย หน่วยงานผู้รับผิดชอบ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน ๑,๔๒๙,๙๐๐ บาท
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- โครงการนี้ เป็นการจัดทำหลักสูตรเพื่อใช้สอนเด็กพิการทางการเห็นและมีความพิการอื่นร่วมด้วย ซึ่งเดิมยังไม่เคยมีหลักสูตรสำหรับกรณีเด็กพิการดังกล่าว ดั งนั้นขอให้ผู้รับผิดชอบโครงการรายงานผลสัมฤทธิ์โดยอธิบายให้เห็นความแตกต่างว่าหลังจากจัดอบรมครูไปแล้ว เมื่อครูนำไปสอนเด็กพิการดังกล่าว มีอะไรดีขึ้นบ้าง
มติที่ประชุม รับทราบ มอบให้ฝ่ายเลขานุการประสานผู้รับผิดชอบโครงการเพื่อติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ต่อไป
๕) โครงการจัดทำระบบคัดกรองนักเรียนในโรงเรียนเอกชน
หน่วยงานผู้รับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ จำนวน ๙,๕๘๑,๐๐๐ บาท
โครงการนี้ เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำระบบคัดกรองนักเรียนในโรงเรียนให้กับผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนเรียนรวม จำนวน ๗๘๐ แห่ง รวม ๑,๕๖๐ คน โดยแบ่งการอบรมเป็นศูนย์เขตละ ๖๐ โรงเรียนๆ ละ ๒ คน รวม ๑๒๐ คน ระยะเวลาการอบรมรุ่นละ ๓ วัน อบรมจำนวน ๑๓ ครั้ง
ข้อสังเกตจากที่ประชุม
- ตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาให้คนพิการได้รับสิทธิช่วยเหลือทางการศึกษา เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการรับรองบุคคลของสถานศึกษาว่าเป็นคนพิการ ผู้ที่จะรับรองต้องได้รับการอบรมการใช้แบบคัดกรองคนพิการทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาก่อน ดังนั้นจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่ออบรมการจัดทำระบบคัดกรองนักเรียนให้แก่ผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนเรียนร่วม จำนวน ๗๘๐ แห่ง รวม ๑,๕๖๐ คน ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ตามข้อมูลพบว่าโรงเรียนที่มีเด็กพิการเรียนรวมมีจำนวน ๓,๙๓๐ แห่ง
- ยุคไทยแลนด์ ๔.0 เทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น อาจจะคิดรูปแบบวิธีการใหม่ๆในการอบรมการใช้แบบคัดกรองคนพิการทางการศึกษาให้แก่ครูครอบคลุมโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ โดยไม่ต้องจัดอบรมแบบ face to face เช่น การอบรมโดยผ่านระบบการประชุมแบบ Video Conference เป็นต้น
มติที่ประชุม รับทราบ
.................................................. .......................
***สามารถอ่านสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ ครั้งที่ ๕/๒๕๖๑ วันพุธที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ เพิ่มเติมได้ตามเอกสารแนบ
https://drive.google.com/open?id=1PxkMA_-R5i-61XlW4cwie8Oz9YEDOzeZ