การเข้าสังคมของบุคคลออทิสติก หลังสถานการณ์โควิด-19
อัษฎากรณ์ ขันตี
ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในรอบสองปีที่ผ่านมา ทำให้กิจวัตรประจำวันที่เคยออกไปไหนต่างต้องพลิกผันอย่างสิ้นเชิง หลายครอบครัวไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้แบบเมื่อก่อน ผู้คนต้องทำงานที่บ้านกันส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ออกไปไหน ทำอะไรก็ลำบาก พรากสิ่งต่าง ๆ ได้ทั้งความสัมพันธ์ ความใกล้ชิด ไปจนถึงชีวิตและทรัพย์สินของหลาย ๆ ครอบครัว ทุกคนต่างตกอยู่ในที่นั่งลำบาก และทำให้การใส่แมสเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามครับ
ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้อ่านบางท่านพอจะทราบว่า บุคคลออทิสติกนั้นมักจะมีปัญหาในการเข้าสังคม ถามว่ามีปัญหาอะไรบ้าง อย่างแรกเลยครับคือเรื่องการสื่อสาร บุคคลออทิสติกมักจะสื่อสารกับคนทั่วไปได้ไม่ค่อยเข้าใจนัก เนื่องจากบุคคลออทิสติกมักจะพูดแต่ในเรื่องที่สนใจ ทำให้คนที่ไม่ทราบในเรื่องของออทิสติกอาจจะงงหรือรำคาญได้ อีกอย่างบางคนอาจจะพูดแบบกุก ๆ กัก ๆ หรือพูดแบบไม่ชัดเลยก็มีครับ อย่างที่สองเป็นเรื่องของการวางตัวเข้าสังคม ปัญหาสำคัญ ๆ คือ บุคคลออทิสติกไม่ทราบว่าจะวางตัวหรือปฏิบัติกับคนในสังคมอย่างไร บุคคลออทิสติกอาจจะไม่ทราบว่าจะพูดกันกับเขาอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ บุคคลออทิสติกอาจจะไม่ทราบถึงการปรับตัวและบริบทของสังคมที่มีความยีดหยุ่นตลอดเวลานั้นเอง
อย่างที่สามคือสังคมไม่ค่อยเข้าใจ อันนี้เข้าใจว่าคนในสังคมมักจะถูกปลูกฝังให้เกิดความอคติกับบุคคลออทิสติก ทำให้สังคมเกิดการมองบุคคลออทิสติกในทางที่ผิด อาทิ ปัญญาอ่อน ติ๊งต๊อง เป็นตัวตลก เป็นตัวปัญหา เป็นต้น
อีกทั้งในสถานการณ์โควิด-19 บุคคลออทิสติกมักจะไม่ได้รับการฝึกฝนในทักษะพื้นฐานต่าง ๆ เท่าที่ควร อีกทั้งบุคคลออทิสติกจะมีปัญหาทางอารมณ์ด้วย อาทิ เก็บกด โดดเดี่ยว อ้างว้าง และขาดคนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาให้เขา อันนี้ขอให้เข้าใจนิดนึงนะครับ ว่าบุคคลออทิสติกไม่ใช่ไม่อยากมีเพื่อน แต่พวกเขาต้องการคนที่จะรัก เข้าใจ และพร้อมที่จะรับฟัง อีกอย่างหนึ่ง บุคคลออทิสติกถ้าจะผูกพันกับใครได้ ก็จะผูกพันกับเขาไปตลอดครับ
ที่ผมต้องการจะเขียนในวันนี้ เป็นการเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวและแนวทางการเข้าสังคมของบุคคลออทิสติกหลังสถานกรณ์โควิด-19 ว่าจะมีแนวทางใดบ้าง ที่จะทำให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างคนปกติ การเข้าสังคมของบุคคลออทิสติกในช่วงหลังโควิดนั้น ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงมีโอกาสในการเข้าโรงเรียนแล้ว ดังนั้นจึงไม่แปลกใจกันนะครับที่บุคคลออทิสติกต้องไปเจอเพื่อน ๆ ในห้องเรียนอีกครั้ง และยังมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในการทำงาน แต่มีส่วนหนึ่งที่อยู่แต่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสังคมของบุคคลออทิสติกมักจะมีปัญหาคลาสสิค ๆ คือ 1.เรื่องของการสื่อสาร 2.เรื่องของการวางตัว 3.เรื่องที่สังคมไม่ค่อยเข้าใจ 4.ไม่ทราบถึงวีธีการเข้าหา พูดคุย หรือการปฏิบัติต่าง ๆ ตามสถานการณ์ที่หลากหลาย เป็นต้น ผมเชื่อว่าบุคคลออทิสติกมีโอกาสในการเข้าสังได้เหมือนคนปกตินะครับ เพียงแต่ต้องใจเย็น อดทน และใช้เวลาครับ
เมื่อหลังสถานการณ์โควิด-19 บุคคลออทิสติกต้องเผชิญกับคนที่หลากหลาย ทั้งคนตามใจ ทั้งคนเป็นมิตร ไปจนถึงคนที่เคร่ง ซีเรียส จริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนในสังคมต้องเจอกับคนแบบนั้น และบุคคลออทิสติกหลายคนต้องทำกิจวัตรต่าง ๆ ทั้งการกินอาหาร เดิน ทำกิจกรรม และทักทาย เป็นต้น แต่บุคคลออทิสติกอาจจะไม่ทราบถึงการวางตัว และกฏสังคมตามวัฒนธรรม และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ผมจึงมีแนวทางในการเข้าสังคมหลังยุคโควิด-19 แน่นอนว่าจะอาศัยแค่บุคคลออทิสติกปรับตัวอย่างเดียวไม่ได้ ทุก ๆ คนต้องมีส่วนร่วมในการปรับตัวด้วยครับ อีกทั้งสมัยนี้ คนได้ตระหนักถึงการแสดงออก สิทธิเสรีภาพที่มากขึ้น ผมจึงมีแนวทางในการเข้าสังคมของบุคคคลออทิสติกหลังโควิด-19 นะครับ
แนวทางการเข้าสังคมของบุคคลออทิสติก หลังสถานการณ์โควิด-19
1.มีกิจกรรมที่หลากหลายให้บุคคลออทิสติกมีส่วนร่วม การมีกิจกรรมที่หลากหลายนั้น ทำให้บุคคลออทิสติกเกิดความเข้าใจในบริบททางสังคม เกิดความเข้าใจถึงกฎกติกาทางสังคม เกิดความเข้าใจในการมีส่วนร่วมกันในสังคม ขอยกตัวอย่างมา 1 กิจกรรมนะครับ คือกิจกรรมการเล่นเก้าอี้ดนตรี ถ้าถามว่าเป็นแนวทางในการเข้าสังคมอย่างไร เป็นการฝึกในการเข้ากฎกติกาในสังคม ในเกมเก้าอี้ดนตรีมีกฎกติกาคือ ถ้านั่งเก้าอี้ได้ไม่ทันตามเพลงที่หยุดเล่น คนนั้นจะไม่ได้เล่นต่อ แต่ถ้านั่งเก้าอี้ดนตรีแล้วนั่งได้ทัน คนนั้นจะได้เล่นต่อ
2.มีการฝึกทักษะทางสังคมอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมทักษะทางสังคมนั้น เป็นการฝึกทักษะต่าง ๆ ในการเข้าสังคมเบื้องต้น ตั้งแต่การยกมือไหว้ การทักทาย การสนทนา การพูดคุย ไปจนถึงมารยาทในที่สาธารณะนั่นเอง การฝึกทักษะทางสังคม ต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง และมีกิจกรรมที่หลากหลาย เรื่องนี้อย่าสอนแค่บรรยายเท่านั้น แต่ควรฝึกปฏิบัติจริง และใช้กิจกรรมจากสถานการณ์จริง เพราะบุคคลออทิสติกจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือการทำตาม ไม่ใช่การบรรยายนั่นเอง
3.สร้างความเข้าใจแก่คนใกล้ชิด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง สังคมยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลออทิสติกและบริบทบุคคลออทิสติกเยอะ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับบุคคลออทิสติกจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าถามว่าทำความเข้าใจอย่างไร อย่างแรกคือต้องทักทายเขาก่อน อย่างที่สองคือการถามว่าเขาชอบ หรือไม่ชอบ สนใจด้านไหน ทำอะไรได้บ้าง มีกิจวัตรอะไรที่ต้องทำ อันนี้ถ้าเด็กหรือบุคคลออทิสติกไม่สามารถตอบได้ก็ต้องให้ผู้ปกครองเป็นคนตอบนะครับ แต่ถ้าเขาตอบได้ก็ตอบเลย จากนั้นต้องอยู่ร่วมกัน และสังเกตเขาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
อีกอย่างที่ต้องทำก็คือ ต้องสามารถอธิบายกับคนที่ไม่เข้าใจในตัวของพวกเขาให้ได้ ถ้าเกิดทำอะไรแล้วมีปัญหากับคนที่ไม่เข้าใจ อย่างน้อยที่สุดคือต้องเข้าใจพวกเขา นิสัย และบริบทครับ อย่างเช่น เด็กชายเอ(นามสมมุติ) มีนิสัยชอบฟังเพลงเก่า ๆ และชอบอ่านประวัติศาสตร์ และชอบคุยกับเรื่องนี้สม่ำเสมอ มีวันหนึ่ง เขารู้สึกรำคาญ เด็กชายเอจึงร้องไห้ พ่อจึงอธิบายกับเขาว่า “น้องเอจะชอบคุยแต่ในเรื่องที่สนใจ ขอให้ทำใจนิดนึงนะครับ แต่อย่างน้อยให้คิดว่าเขาได้เห็นความสำคัญของลูกผมนะครับ” และเขาก็ดอเค จึงขอโทษครอบครัว และได้เล่าอะไรให้ฟังต่อไปครับ
4.เปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้นอกสถานที่ การเรียนรู้นอกสถานที่ อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญนะครับ สำคัญครับ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลออทิสติกได้ไปเจอโลกกว้าง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตามที่บุคคลออทิสติกสนใจ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียน ได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม และบริบททางสังคมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ การเรียนรู้นอกสถานที่นั้น มีกิจกรรมทั้งไปกลับ หรือจะเป็นค้างคืนก็ได้ ในกรณีที่ค้างคืน หากช่วยเหลือตนเองได้ ก็สามารถที่จะไปนอนค้างคืนกับเพื่อน(ที่เพศเดียวกัน)ได้ แต่ถ้าหากยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง หรือมีความจำเป็นที่ต้องมีครอบครัวไปด้วย ก็ต้องมีครอบครัวไปด้วยสม่ำเสมอ
การเรียนรู้นอกสถานที่นั้น เราสามารถที่จะไปอบรมในสิ่งที่น้อง ๆ สนใจ หรือจะเป็นที่ชุมชน แต่ถ้าหากค้างคืนควรจะเป็นค่ายฝึกทักษะ ฝึกพัฒนาการ ฝักการเข้าสังคม หรือจะเป็นอย่างอื่นที่เหมาะสมกับบุคคลออทิสติกหรือครอบครัวก็ได้ แต่ไม่ควรทำกิจกรรมที่รุนแรงและโลดโผนจนเกินไป
5.มีการดูแล นิเทศ และติดตามพัฒนาการ และความสามารถของบุคคลออทิสติก
อย่างต่อเนื่อง เอาจริง ๆ ที่ควรจะมีข้อนี้เพราะว่า หากบุคคลออทิสติกนั้น มีการฝึกในเรื่องของความรู้ ความสามารถ ทักษะชีวิต และทักษะสังคมแล้ว จะต้องมีการติดตามในเรื่องของพัฒนาการในแต่ละด้านอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ หากไม่มีตรงนี้มารองรับ จะเกิดผลเสียในระยะยาว ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และในข้อนี้ จะต้องมีการส่งต่อไปยังสถานศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และไปสู่สถานประกอบการ ภาครัฐและเอกชน เพื่อประกอบการติดตาม นิเทศ ว่าบุคคลออทิสติกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ เข้าสังคมได้หรือเปล่า อารมณ์ควบคุมได้หรือไม่ มีเพื่อนและบัดดี้หรือยัง เป็นต้น
6.หาเวลาพูดคุย และสนทนากันบ่อย ๆ การที่จะอยู่ร่วมกันกับบุคคลออทิสติกนั้น ต้องอาศัยทั้งเวลาและความคุ้นเคยเป็นอย่างมาก เรื่องนี้จึงไม่ควรที่จะละเลยเป็นอย่างยิ่ง ทำไมถึงต้องทำเรื่องนี้ อย่างที่บอกเลยครับ ว่าบุคคลออทิสติก เขาจะเรียนรู้ในสิ่งที่คุ้นเคย หรือการทำตามจากคนใกล้ชิด ดังนั้นการพูดคุยจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความคุ้นเคยหรือใกล้ชิดนั้นเอง เวลาที่พูดคุย ต้องลองคุยในเรื่องที่บุคคลออทิสติกสนใจ จากนั้นจึงค่อย ๆ สลับการคุย จากเรื่องที่บุคคลออทิสติกสนใจไปถึงเรื่องที่คนที่จุคุยสนใจ จากนั้นมีการถาม-ตอบเหมือนคนเปกติ และไม่ใช่แค่นั้น ต้องหาเวลาในการพูดคุยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องคุยทุกวันนะครับ
อันนี้เข้าใจครับว่าทุกคนต่างมีภาระ หน้าที่ และอาจจะว่างไม่ตรงกัน ถ้าหากไม่ว่างจริง ควรจะค่อย ๆ พูดให้เข้าใจ และหาเวลาว่างที่ตรงกันมาพูดคุยก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีคือต้องนัดล่วงหน้า การพูดคุยควรจะพูดแบบไพเราะ สุภาพ มีเหตุผล และต้องมีความจริงใจแก่กันและกัน ให้เกีรยติอย่างสม่ำเสมอ ถามว่าเรื่องนี้ได้ประโยชน์อะไรบ้างบุคคลออทิสติกจะได้ฝึกการพูด-คุย การโต้ตอบ การฝึกการนั่ง การฝึกสบตา ส่วนคนที่จะคุยนั้น จะได้ประโยชน์คือเข้าใจบุคคลออทิสติกและบริบทต่างๆของบุคคลออทิสติก อีกทั้งยังฝึกวิธีการพูดคุย และดูแลบุคคลออทิสติกไปในตัว
7.เปิดโอกาสให้มีการแสดงทักษะ ความรู้ ความสามารถอย่างต่อเนื่อง อันนี้ต้องเข้าใจนิดนึงนะครับ ว่าบุคคลออทิสติกนั้น ต่างมีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่แตกต่างกันออกไป ทุกคนครับ ต้องสังเกตบ่อย ๆ ว่าบุคคลออทิสติกคนนั้นชอบอะไร ชอบทำอะไร และสามารถทำเป็นอาชีพได้หรือเปล่า ถ้าได้ครบทั้งสามอย่าง บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันดูแล ส่งเสริม สนับสนุน และต้องหาพื้นที่แสดงออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้ามีพื้นที่ได้ก็รีบเลยครับ
การแสดงความสามารถ เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำพาบุคคลออทิสติกให้ไปสู่สังคมได้อย่างสง่างาม ถ้าถามว่าเรื่องนี้ได้อะไรบ้าง บุคคลออทิสติกจะได้รับการกระตุ้น ในเรื่องของการฝึกความสามารถ การใช้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ อีกทั้งฝึกเรื่องบุคลิกภาพ การพูด ทักษะสังคม และทักษะการดำรงชีวิต ส่วนผู้ฝึกและผู้ดูแล จะได้ทักษะในการดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนบุคคลออทิสติก ได้ทำการฝึกฝน และอยู่ร่วมกับบุคคลออทิสติกได้อย่างมีความสุขครับ
จะเห็นได้ว่า แนวทางที่ผมเสนอไป อาจจะไม่ได้ถูกต้องไปทางหมด แต่ก็เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกับบุคคลออทิสติกหลังยุคโควิด-19 เข้าใจนะครับว่าการที่จะให้คนปกติอยู่ร่วมกับบุคคลออทิสติกได้เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเหตุผลต่าง ๆ บ้างบุคคลออทิสติกไม่สามารถที่จะวางตัวเข้ากับบริบทที่แตกต่าง และคนปกติที่ไม่ค่อยเข้าใจบริบทของบุคคลออทิสติกนัก ผมเชื่อเสมอว่า ๆ ยังพอมีจุด ๆ หนึ่ง ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ มันไม่ใช่ง่าย ๆ และจะต้องใช้เวลาและความรักเป็นอย่างมาก ค่อย ๆ ปรับกันไป ซึ่งผมเชื่อว่าหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้กับบุคคลทั่วไปและบุคคลออทิสติกนั้นยังพอมี ผมก็ของเป็นกำลังใจและเป็นแรงผลักดันเพื่อให้บุคคลออทิสติกสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขหลังสถานการณ์ของโควิด-19 นะครับ สวัสดีครับ
อัษฎากรณ์ ขันตี
5 กรกฎาคม 2565